โครงการประชุมวิจัยทางการพยาบาลแห่งชาติ ครั้งที่7 โดยสภาการพยาบาล วันที่ 27- 28 มกราคม 2565

จำนวนผู้เข้าชม : 654 ครั้ง

วันที่ 27- 28 มกราคม 2565 สภาการพยาบาลจัดโครงการประชุมวิจัยทางการพยาบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 7
เรื่อง แนวโน้ม ความท้าทาย และเครือข่ายวิจัยทางการพยาบาลในยุคเทคโนโลยีพลิกโลก ณ อาคารนครินทรศรี ภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยการประชุมในรูปแบบ Virtual Conference มีผู้เข้าร่วมประชุม 720 คน

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล และประธานจัดการประชุม และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สมจิต หนุเจริญกุล ที่ปรึกษาสภาการพยาบาลและรองประธานจัดการประชุม เผยว่า "การจัดโครงการประชุมวิจัยทางการพยาบาลแห่งชาติ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ขณะนี้เป็นปีที่7 ซึ่งประชุมทุก 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ในเรื่องของการวิจัยที่ทำมา และที่สำคัญอยากดูว่าในอดีตที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเพียงใด มีท้าทายอะไรที่จะต้องเพิ่มเติม เพื่อให้งานวิจัยทางการพยาบาลเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างจริงจัง อีกทั้งจะได้เห็นทิศทางของการวิจัยในอนาคต

ในการประชุมครั้งนี้ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับเชิญมาเสวนาในหัวข้อ การเผยแพร่ผลงานวิจัยในยุคเทคโนโลยีพลิกโลก ได้ให้สัมภาษณ์ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้มองปัจจุบัน แนวโน้ม ของการเผยแพร่และเข้าถึงงานวิจัยทางสุขภาพของประชาชนทั่วไปในยุคเทคโนโลยีพลิกโลกนี้ด้วยว่า "เดี๋ยวนี้ช่องทางการสื่อสารของข่าวมีมากกว่าเดิม ทั้งสื่อหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ อีกทั้งมีสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยม อย่าง Facebook, Twitter, Instagram, Youtube หรือที่กำลังเป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ก็คือ TikTok ที่เป็นไวรัลที่ดีมาก ซึ่งพอมีช่องทางพวกนี้ คนที่อยากเผยแพร่งานวิจัยก็จะต้องคิด 2 แบบ คิดแบบหนึ่งคือส่งผ่านสื่อมวลชน กับอีกแบบคือทำผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งพยาบาลทำเองได้  โดยเอางานวิจัยมาแปลงคอนเท้นต์ให้เป็นภาษาที่ง่าย และนำเสนอแบบที่ง่ายให้เหมาะกับแต่ละสื่อ การที่ทำงานวิจัยที่มีสาระให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเช่นกันและถ้าสามารถทำได้ และมีการพูดถึงมากๆ ในโลกโซเชียล ก็จะไปเข้าหูสื่อ เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนี้เยอะๆ สื่อก็จะไม่อยู่เฉย สุดท้ายสื่อก็จะวิ่งไปหาเอง